AI ในปัจจุบัน

การที่จะปฏิเสธเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันนี้ถือเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตามทุกสิ่งจะถูกเชื่อมโยงด้วยระบบเครือข่ายโดยมีเบื้องหลังคือ TCP/IP และเทคโนโลยียังรวมไปถึงการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ ในชีวิตประจำวันนั้นอาจเจอกับการใช้งาน AI โดยที่ผู้ใช้งานไม่รู้ตัวเช่น

  • การสั่งอาหารผ่าน Delivery Platform โดยผู้ใช้จะเจอ AI ในส่วนของการติดตามเส้นทางของคนขับ การแสดงผลเส้นทางที่ใช้ และการคาดการณ์เวลาที่คนขับจะนำอาหารมาส่งให้แบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ยังอาจเจอในส่วนของ Recommendation ร้านอาหาร โปรโมชั่นต่าง ๆ อีกด้วย (แต่ในส่วนนี้จะเป็น Process ที่ถูก Predicted และทำ Segmentation เอาไว้ก่อนแล้วจึงนำมาส่งให้ผู้ใช้งานอย่างเรา ๆ ได้เห็น)
  • การใช้งาน Google Maps ในการเดินทางไม่ว่าจะใกล้หรือไกลแค่ไหน Google Maps ก็เป็นเพื่อนคู่ใจในการเดินทางของใครหลาย ๆ คน โดยผู้ใช้มักให้มันทำงานโดยการบอกเส้นทางไปยังจุดมุ่งหมายที่ต้องการและเวลาที่ต้องใช้ ซึ่งการบอกเส้นทางที่ถูกต้องนี้เองเป็นการใช้เอไอเข้ามาประมวลผลว่าเส้นทางไหนคือเส้นทางที่จะไปถึงจุดหมายได้เร็วที่สุด การคาดการณ์เวลาที่จะต้องใช้ในการเดินทาง และสภาพจราจรบนเส้นทางนั้น ๆ จะเป็นอย่างไร เรื่องพวกนี้เอไอของ Google Maps ถือว่าทำงานได้แม่นยำมากขึ้นทุกวัน
  • การ Search หาข้อมูล ความรู้ต่าง ๆ บน Google เองก็มีการใช้เอไอเช่นกัน อย่างการคาดการณ์คำที่ผู้ใช้งานต้องการค้นหา การแนะนำคำค้นหาที่เหมาะสม หรือการสร้างคำค้นหาที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้ใช้งานเจอเนื้อหาที่ต้องการได้ ไปจนถึงการทำความเข้าใจคำค้นและหาข้อมูลที่เหมาะสมที่สุดมาแสดงให้ผู้ใช้งาน ซึ่ง Google เพิ่งออกโมเดลใหม่อย่าง MUM (Multitask Unified Model) เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานเจอกับข้อมูลหรือคำตอบที่ต้องการจริง ๆ
  • การใช้งาน Adobe Photoshop สำหรับคนทำงานหลาย ๆ คนคงจะต้องผ่านการใช้งานโปรแกรมนี้กันมาบ้างหรือบางคนอาจใช้งานมันเป็นประจำ การที่ใช้งานฟังก์ชันต่าง ๆ ในการทำรูป แต่งรูป จัดการสิ่งต่างให้รูปภาพเป็นไปตามความต้องการเหล่านี้เองที่มีเอไออยู่เบื้องหลัง และในเวอร์ชั่นหลัง ๆ มานี้ Adobe ได้เพิ่ม AI และ Machine Learning เข้าไปอีกหลายส่วนช่วยให้ทำงานเกี่ยวกับรูปภาพได้ดียิ่งขึ้น อ่านเพิ่มเติมได้จาก Reference ในท้ายบทความ

เทรนด์ของการนำ Artificial Intelligence มาใช้ในภาคธุรกิจและชีวิตประจำวันนั้นเริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหลักมาจากขีดความสามารถของเอไอที่พัฒนาไปไกลยิ่งกว่าเดิมมาก และสามารถนำไปใช้ในงานที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงการที่ผู้คนเริ่มปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้นนั้นก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญเช่นกัน (ยุค COVID-19 ทำให้คนจำนวนมากต้องใช้เทคโนโลยีและปรับตัวอย่างเลี่ยงไม่ได้)

ในบทความนี้จะกล่าวถึงปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้งานกันในปัจจุบันว่ามีประเภทไหน มีอะไรบ้าง เคยใช้กันมาบ้างแล้วหรือไม่? ไปจนถึงเทรนด์ในอนาคตว่าสิ่งนี้จะพัฒนาต่อไปในทิศทางไหนได้บ้าง

ประเภทของ AI มีอะไรบ้าง?

ปัญญาประดิษฐ์นั้นถูกนำมาใช้ในหลายอุตสาหกรรมหลายธุรกิจโดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป แต่หลัก ๆ แล้วเอไอจะคำนวณโดยรับข้อมูลที่ระบบคอมพิวเตอร์สามารถรับได้ในปัจจุบันซึ่งถือว่าค่อนข้างรับข้อมูลได้เป็นจำนวนมากแล้วเพียงแต่ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนก่อนนำไปใช้กับปัญญาประดิษฐ์ และก่อนที่จะไปถึงตัวอย่างเอไอเจ๋ง ๆ นั้น จะต้องทบทวนความรู้เกี่ยวกับประเภทของ Artificial Intelligence กันก่อน โดยปัญญาประดิษฐ์นั้นแบ่งประเภทได้ดังนี้

  1. Artificial Intelligence โดยแบ่งตามความสามารถในการจำลองความคิดและความรู้สึกของมนุษย์
    • Reactive Machines: ปัญญาประดิษฐ์ประเภทนี้จะไม่มีหน่วยความจำ และสามารถใช้งานในการตอบสนองเป็นเรื่อง ๆ ไปเท่านั้น หรือเรียกว่าไม่มีประสบการณ์
    • Limited Memory: ทุก Applications ที่มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบันนั้นเรียกว่าได้อยู่ในประเภทของ Limited Memory เกือบทั้งหมด โดยมันมีความสามารถทั้งหมดของ Reactive Machines และมีหน่วยความจำที่สามารถเตรียมข้อมูลไว้ให้ล่วงหน้าได้ เรียกว่าสามารถสอนให้เรียนรู้และนำมาเป็นประสบการณ์เพื่อใช้ตัดสินใจได้ และกระบวนการนี้เองที่เรียกว่าการ Train Model โดยมีทั้งการใช้ Machine Learning และ Deep Learning ตามความซับซ้อนของปัญญาประดิษฐ์
    • Theory of Mind: สำหรับประเภทนี้ส่วนใหญ่จะยังเป็นแนวคิดและอยู่ในระหว่างดำเนินการ ยังไม่ได้มีการใช้อย่างแพร่หลายเหมือนอย่าง 2 ประเภทแรก โดยหัวใจสำคัญของปัญญาประดิษฐ์นี้คือ “ความเข้าใจมนุษย์” ในระดับปัจเจกบุคคล ซึ่ง Theory of Mind นี้จะสามารถ Interact ได้ดีขึ้นมากด้วยการแยกแยะความต้องการ อารมณ์ ความเชื่อ กระบวนการคิด โดยปัญญาประดิษฐ์ที่มีความฉลาดทางอารมณ์ความรู้สึกก็เป็นสิ่งที่นักวิจัยให้ความสนใจเช่นกัน
    • Self-aware: ปัญญาประดิษฐ์ในระดับเดียวกันกับสมองของมนุษย์ ในปัจจุบันยังมีเพียงแค่สมมุติฐานเท่านั้น สิ่งนี้เป็นเป้าหมายสูงสุดที่นักวิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ต้องการ แต่ทั้งนี้ก็มีข้อควรระวังมากมายหากเอไอสามารถที่จะมีความคิดได้เช่นเดียวกับมนุษย์
  2. Artificial Intelligence โดยแบ่งตามคำเรียกทางเทคนิค
    • Artificial Narrow Intelligence (ANI): ปัญญาประดิษฐ์ส่วนใหญ่ (เกือบทั้งหมด) ในปัจจุบันจะถูกจัดไว้ในประเภทนี้ โดยมันจะมีความสามารถในการทำงานเฉพาะด้านตามที่ได้สร้างโปรแกรมและสั่งการไว้เท่านั้น แต่ทั้งนี้เอไอก็ทำงานได้อย่างยอดเยี่ยมมากสำหรับงานเฉพาะอย่างที่ได้รับมอบหมายนั้น ๆ (เทียบเท่ากับ Reactive Machines + Limited Memory)
    • Artificial General Intelligence (AGI): AGI นี้จะสามารถจำลองความสามารถแบบ multifunctional ของมนุษย์เพื่อเรียนรู้การแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้มากขึ้นและใช้เวลาในการ Train น้อยลง
    • Artificial Superintelligence (ASI): มีความสามารถที่เหนือยิ่งกว่า AGI ด้วยหน่วยความจำที่มีมากกว่า (มาก ๆ) ความเร็วในการคิดและตัดสินใจแก้ปัญหาที่สูงกว่า ทั้ง AGI และ ASI นี้เรียกได้ว่าเป็นเสมือนมนุษย์ที่มีความสามารถรอบด้านและมากมายเลยก็ว่าได้

และสำหรับความฉลาดของปัญญาประดิษฐ์นั้นจะแบ่งออกเป็น Knowledge-based System (ฉลาดเชิงฐานความรู้) และ Computational Intelligence (ฉลาดเชิงคำนวณ) ในส่วนของการเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์นั้นจะเรียกว่า Machine Learning และ Deep Learning ตามที่ได้เห็นในบทความและตำราส่วนใหญ่ (Supervised Learning, Unsupervised Learning, Reinforcement Learning และ Neural Networks)

ตัวอย่าง AI สุดเจ๋ง

DeepMind จับมือกับ Liverpool เพื่อพัฒนาเกมการเล่นฟุตบอล

Deep Mind

บริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์ในเครือของ Alphabet (บริษัทแม่ของ Google โดย DeepMind ถูกกูเกิ้ลเข้าซื้อเมื่อปี 2014) DeepMind แจ้งเกิดด้วยปัญญาประดิษฐ์ที่มีชื่อว่า AlphaGo ในการเล่นหมากล้อม (โกะ) เอาชนะมืออาชีพและแชมป์โลกได้ แต่ DeepMind ไม่ได้มีดีแค่นั้นยังมี AI อีกมากมายที่ถูกพัฒนาขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะนำเกมเข้ามาใช้ฝึกสอนโมเดลและสร้างปัญญาประดิษฐ์

ขอบคุณคลิปจาก Bringin’Across

Kizuna AI

Kizuna AI เป็น Vtuber (Virtual Youtuber) จากญี่ปุ่นที่สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ทำให้สามารถยกระดับ CGI Influencers
(computer-generated imagery) ให้มีความคิดและการกระทำของตัวเองได้ โดยอาชีพหลักของไอจังคือ Youtuber สามารถติดตาม Kizuna ได้ที่นี่ Youtube

NVIDIA

Tech Company ระดับโลกนี้ได้สร้างปัญญาประดิษฐ์จำนวนมากเกี่ยวกับการประมวลผลภาพขึ้นมามากมาย โดยมีความสามารถมากมายหลายด้านให้ได้ศึกษาและนำไปใช้งาน

Trends AI ในอนาคต

ปัญญาประดิษฐ์นั้นจะถูกนำเข้ามาใช้ในภาคธุรกิจมากขึ้นอย่างแน่นอน สิ่งที่จะต้องมีเป็นพื้นฐานสำหรับธุรกิจในอนาคตอาจหนีไม่พ้น Chatbot เพราะการให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์นั้นกำลังเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใดก็ตาม ดังนั้นการถามตอบข้อมูล ให้คำตอบ ให้บริการบางอย่างผ่านช่องทางแชทนั้นจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนและ Chatbot ก็เป็นวิธีที่ตอบโจทย์กับเรื่องเหล่านี้ โดยใช้เพียงแค่ระดับ Reactive Machines ก็อาจเพียงพอแล้ว แต่ถ้าหากธุรกิขค่อนข้าง Mass นั้นก็อาจพัฒนาให้เป็นระดับ Limited Memory ได้ และนอกจากแชตบอทแล้วนั้นการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้กับงานธุรกิจก็จะมีมากขึ้นด้วยเช่น งานเอกสาร งานบัญชี งานจดบันทึก และทุกอย่างที่เป็นกระบวนการทำซ้ำ จะถูกทดแทนด้วยเอไอ เพื่อลดภาระงานขององค์กรและใช้คนในงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และด้วยเทคโนโลยีด้าน Cloud Computing ที่มีประสิทธิภาพมากในปัจจุบันนั้นจะช่วยให้ธุรกิจ SME เข้าถึงการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ในราคาที่ถูกลงได้ นอกเหนือจากนี้แล้วปัญญาประดิษฐ์ระดับ Theory of Mind เองก็อาจเริ่มเกิดขึ้นจริงมากขึ้นอย่างเช่น Kizuna AI หากพัฒนาขีดความสามารถให้มีความฉลาดทางอารมณ์ได้ เป็นต้น สำหรับในชีวิตประจำวันในอนาคตนั้นจะได้เจอกับยานพาหนะระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติอย่างแน่นอน ไปจนถึงผู้ช่วยส่วนตัวที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอย่าง Google Assistant และ Siri ที่มีบนอุปกรณ์สมาร์ทโฟนของทุกคน ผู้ช่วยเหล่านี้จะมีส่วนในการค้นหาข้อมูลบนโลกออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นรวมถึงการทำความเข้าใจในความต้องการของผู้ใช้งานและนำเสนอผลลัพธ์ที่ต้องการในทันที

Conclusion

ปัญญาประดิษฐ์นั้นจะถูกนำมาใช้ในธุรกิจมากขึ้นอย่างแน่นอนตั้งแต่ระบบการให้บริการลูกค้าอย่างช่องทางแชท ไปจนถึงการระบบงานภายในของธุรกิจ และระบบการผลิต/ซ่อมบำรุง/ดูแล ต่าง ๆ ในอุตสากรรมใหญ่ก็เช่นกัน นอกเหนือจากงานระบบเหล่านี้แล้วปัญญาประดิษฐ์จะมีส่วนในการเป็นเครื่องมือให้คนทำงานได้ใช้อีกมาก และสำหรับชีวิตประจำวันนั้นเอไอจะช่วยให้ผู้คนใช้ชีวิตได้ง่ายยิ่งขึ้นดังตัวอย่างข้างต้นและอีกมากมายเช่นระบบ Google Assistant ที่จะเป็นผู้ช่วยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต ดังนั้นการเรียนรู้และใช้งานเทคโนโลยีให้คล่องแคล่วและปลอดภัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก (Digital Literacy)

ติดตามบทความอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ SBC Blog

LINE OA: SUBBRAIN

Facebook: SUBBRAIN

Reference: Google, Adobe, SUBBRAIN, FORBES, DeepMind

ติดตาม SUBBRAIN ได้ที่นี่